ประกันภัยเบ็ดเตล็ด

การประกันภัยเบ็ดเตล็ด
ประกันภัยทรัพย์สิน
1.1 การประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดของทรัพย์สิน
        การประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดของทรัพย์สินให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินจากภัยต่างๆ ที่ค่อนข้างกว้างขวาง กล่าวคือคุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิดของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยต่อความสูญเสียและความเสียหายโดยตรงทางกายภาพจากสาเหตุภายนอกทุกกรณี เว้นแต่ที่ระบุไว้ในข้อยกเว้นในกรมธรรม์
        ทรัพย์สินที่เอาประกันบางรายการอาจเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล และมีการนำติดตัวไปยังสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการเดินทางไปยังสถานที่อื่นๆ โดยไม่จำกัดเพียงเฉพาะการเก็บไว้ภายในสถานที่เท่านั้น เช่น นาฬิกา กล้องดิจิตอล โทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะต้องมีการตกลงกับบริษัทฯ ก่อน นอกจากนั้นทรัพย์สินทางการค้าหรือทางอุตสาหกรรมที่เอาประกัน บริษัทฯ ก็ให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย รวมกับภัยเพิ่มและอุบัติภัยที่ไม่คาดฝัน ตลอดจนการสูญเสีย และเสียหายจากการถูกลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการผู้เอาประกันในการขยายความคุ้มครองโดยการจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม
1.2. การประกันภัยโจรกรรม
        แม้ว่าในปัจจุบันจะมีระบบป้องกันการโจรกรรมที่ทันสมัย เช่น การมีระบบโทรทัศน์วงจรปิด รวมถึงมีการเฝ้าระวังดูแลรักษาทรัพย์สินอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีข่าวปรากฏอยู่ตามสื่ออยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ว่ามีการโจรกรรมทรัพย์สินเกิดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ เช่น อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือสถานประกอบธุรกิจต่างๆ อันได้แก่ ห้างร้าน ธนาคาร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงภัย บรรเทาความเดือดร้อน และคลายความกังวลเกี่ยวกับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นแก่เจ้าของทรัพย์สินต่างๆ การประกันภัยโจรกรรม จึงมีความเหมาะสมด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้น
        การประกันภัยโจรกรรมให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินจากการสูญเสีย/เสียหาย โดยที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ภายในอาคารสิ่งปลูกสร้าง และได้ถูกโจรกรรมโดยการใช้กำลังรุนแรงจากการใช้เครื่องมือ วัตถุระเบิด ไฟฟ้าเคมี รวมถึงความสูญเสีย/เสียหายจากการพยายามกระทำดังกล่าว ขณะเดียวกันความเสียหายต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวอาคารอันเกิดจากการโจรกรรมดังกล่าว ก็จะได้รับการชดใช้ให้เช่นกัน นอกจากนี้เจ้าของทรัพย์สินยังสามารถขยายความคุ้มครองสำหรับทรัพย์สินที่อยู่ภายนอกอาคาร โดยการตกลงหรือระบุเพิ่มเติมในกรมธรรม์ได้
1.3. การประกันภัยสำหรับเงิน
        การประกันภัยสำหรับเงิน ให้ความคุ้มครองในกรณีที่เงินสูญหายในระหว่างการขนส่ง และเงินซึ่งเก็บอยู่ในสถานที่เก็บเงินหรือเงินที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้เอาประกันภัย การประกันภัยประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถาบันการเงิน ปั้มน้ำมัน สำนักงานที่มีการรับ-ส่งเงิน เป็นต้น
        บริษัทฯ จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับความสูญหายของเงิน และความเสียหายต่อตู้นิรภัยหรือห้องนิรภัย ที่มีสาเหตุมาจากการชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หรือความพยายามกระทำการดังกล่าวโดยมีความคุ้มครองให้เลือกหลายรูปแบบตามความต้องการดังนี้ 
               1. ความสูญเสียของเงินเพื่อจ่ายค่าจ้างและ/หรือเงินเดือน
               2. ความสูญเสียของเงินในสถานที่เอาประกันภัย
               3. ความสูญเสียของเงินภายในตู้นิรภัยหรือห้องนิรภัย
               4. ความสูญเสียของเงินภายนอกสถานที่เอาประกันภัย
               5. ความเสียหายต่อตู้นิรภัยหรือห้องนิรภัย
1.4 การประกันภัยความซื่อสัตย์ของลูกจ้าง
        ปัญหาหนักอกของผู้เป็นเจ้าของกิจการหรือบรรดานายจ้าง ซึ่งมีพนักงานในความดูแลที่จะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งอาจเกิดความสูญเสียขึ้นได้ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การทำงาน หรือฉ้อโกง หรือยักยอก หรือทุจริต ทำให้เกิดความสูญเสียต่อนายจ้างหรือกิจการนั้น บางครั้งความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่อผลการประกอบการอย่างร้ายแรง ทางเลือกอีกทางหนึ่งที่จะบรรเทาความเสียหายนั้นคือ การเลือกซื้อการประกันภัยความซื่อสัตย์ของลูกจ้าง ซึ่งให้ความคุ้มครองความสูญเสีย เมื่อลูกจ้างได้ทำการฉ้อโกง หรือยักยอก หรือทุจริต
        ตำแหน่งที่ควรซื้อการประกันภัยความซื่อสัตย์ของลูกจ้าง คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน เจ้าหน้าที่เก็บเงิน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรับ/จ่ายเงิน
1.5 การประกันภัยสิทธิการเช่า
        สิทธิการเช่า หมายถึง ส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัยในจำนวนเงินมัดจำค่าเช่าที่ผู้เช่าจ่ายให้กับผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่า การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยคำนวณจาก จำนวนเงินมัดจำค่าเช่า หารด้วยระยะเวลาการเช่า แล้วคูณด้วย ระยะเวลาการเช่าที่เหลืออยู่ตามสัญญา ซึ่งจำนวนเงินเอาประกันภัยจะลดลงโดยอัตโนมัติทุกปี 
        การประกันภัยสิทธิการเช่า ให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดแก่สถานที่เช่า ถึงขนาดที่ไม่สามารถใช้งานได้เกินกว่าร้อยละ 80 จากการเกิดอัคคีภัย ฟ้าผ่า หรือ ภัยอื่นๆ ที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ฯ
1.6 การประกันภัยความเสียหายเมื่อธุรกิจหยุดชะงัก
        ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทุกประเภทที่เอาประกันภัย กรณีได้รับความเสียหายหรือการสูญเสียโดยเกิดจากอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดหมายใดๆ (ไม่คุ้มครองภัยหรือเหตุที่กรมธรรม์ระบุไว้ในข้อยกเว้น)
        การประกันภัยประเภทนี้เหมาะกับธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูง ผู้เอาประกันภัยสามารถเอาประกันภัยการหยุดชะงักของธุรกิจ สำหรับความเสียหายต่อเนื่องจากความเสียหายทางทรัพย์สิน อาทิเช่น ค่าใช้จ่ายคงที่ ซึ่งคงต้องจ่ายต่อไประหว่างธุรกิจหยุดชะงัก รวมถึงผลกำไรที่ขาดหายไป
1.7. การประกันภัยป้ายโฆษณา
        ป้ายโฆษณาเป็นสื่อที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ประเภทหนึ่งที่เข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากการใช้สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์วิทยุ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นๆ ป้ายโฆษณาส่วนใหญ่มักจะติดตั้งในบริเวณจุดเด่นที่จะทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมาเห็นได้อย่างง่ายและชัดเจน ทำให้มีความเสี่ยง ที่จะต้องเผชิญกับความเสียหายที่มีต่อตัวเอง เช่น ในกรณีป้ายที่โดนลมพายุพัดจนพัง และความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชีวิตของบุคคลภายนอก เช่น ในกรณีที่ป้ายอาจล้มไปทับทำความบาดเจ็บทางร่างกายหรือทำให้อาคารบ้านเรือนใกล้เคียงเสียหาย ตามที่เป็นข่าวอยู่เสมอๆ เป็นต้น ทำให้ผู้เป็นเจ้าของป้ายโฆษณามีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้
        ดังนั้นความเสี่ยงภัยที่เกิดจากป้ายโฆษณา ผู้เจ้าของอาจจะโอนมาให้บริษัทฯ เป็นผู้รับภาระแทนโดยการทำประกันภัยป้ายโฆษณา ซึ่งจะให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือป้ายโฆษณา และความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่ได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิต และ/หรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลมาจากอุบัติเหตุอันเกิดจากป้ายโฆษณา
1.8 การประกันภัยสำหรับกระจก
        ปัจจุบันอาคารสมัยใหม่ ห้างร้าน สถานที่แสดงสินค้า มักนิยมใช้ผนังซึ่งประกอบไปด้วยกระจกเป็นส่วนใหญ่ เพื่อภาพลักษณ์ที่โดดเด่น สวยงาม รวมทั้งรูปแบบของกระจกที่มีการออกแบบเพื่อประโยชน์การใช้งานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากคุณสมบัติที่ค่อนข้างเปราะ จึงทำให้มีโอกาสได้รับความเสียหายแตกหักได้ง่ายจากสาเหตุหลายประการ แม้ว่าความเสียหายที่มีต่อกระจกจะเป็นจำนวนที่ไม่ค่อยสูงมากนักเมื่อเทียบกับทรัพย์สินประเภทอื่น แต่หากบางอาคารที่มักนิยมใช้กระจกเป็นส่วนใหญ่ จะได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินที่สูงจากอุบัติภัยในแต่ละครั้ง 
        การประกันภัยสำหรับกระจก จึงเป็นการประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยของกระจกที่อาจแตกจากสาเหตุใดๆ ที่ไม่ได้ระบุในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ ไม่ว่าจะเป็นกระจกที่ใช้ในอาคาร
พาณิชย์หรือบ้านอยู่อาศัย การประกันภัยจะให้ความคุ้มครองต่อการแตกหัก หรือรอยสึกรอยถลอก
หรือเกิดจากความเสียหายทางเคมี ของกระจกอันเนื่องจากอุบัติเหตุ
1.9 การประกันภัยผู้เล่นกอล์ฟ 
        ปัจจุบันการเล่นกอล์ฟเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างสูง มีผู้เล่นและสนามกอล์ฟเพิ่มขึ้นมากมาย หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่าการเล่นกอล์ฟอาจจะเกิดอุบัติเหตุทำความเสียหายต่อผู้เล่น อุปกรณ์การเล่น หรือบุคคลอื่นได้ในขณะที่เล่นหรือขณะฝึกซ้อม
        การประกันภัยผู้เล่นกอล์ฟ ให้ความคุ้มครองจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในขณะการเล่นการซ้อม หรือการฝึกหัดเล่นกอล์ฟในสนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกหัดกอล์ฟสาธารณะ ต่อ
               1. ความรับผิดตามกฎมายต่อบุคคลภายนอก
               2. การเสียชีวิต หรือ ความบาดเจ็บทางร่างกายของผู้เอาประกันภัย
               3. อุปกรณ์การเล่นกอล์ฟ (ไม้กอล์ฟ ถุงกอล์ฟ และรถลากถุงกอล์ฟ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น